วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

คณะภราดาเซนต์คาเบรียลในประเทศไทย


คณะภราดาเซนต์คาเบรียลในประเทศไทย

คณะภราดาเซนต์คาเบรียล ( Brothers of St. Gabriel) เป็นคณะนักบวชคาทอลิกคณะหนึ่งซึ่งขึ้นตรงต่อสมเด็จพระสันตะปาปา   นักบุญหลุยส์ มารี กรีญอง เดอ มงฟอร์ต เป็นผู้สถาปนาคณะ และนักบุญคาเบรียล เดแอร์ เป็นผู้ฟื้นฟูคณะ
คณะมีศูนย์กลางของคณะที่กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ทำงานรับใช้พระเป็นเจ้าผ่านทางการให้การศึกษาแก่เยาวชน และเอาใจใส่เป็นพิเศษต่อคนยากจน ตามจิตตารมณ์ของนักบุญมงฟอร์ต ปัจจุบัน มีภราดาเรอเนย์ เดอลอม เป็นอัคราธิการเจ้าคณะเซนต์คาเบรียล คำว่า "ภราดา" หมายถึง "พี่น้อง"
 อธิการเจ้าแขวงคณะภราดาเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทยท่านปัจจุบันคือ ภราดาศิริชัย ฟอนซิกา

  คณะเซนต์คาเบรียลมีพันธกิจที่สำคัญตามจิตตารมณ์ของนักบุญหลุยส์ มารีย์ กรียอง เดอ มงฟอร์ตผู้ก่อตั้ง คือ “ภราดาเป็นผู้จัดการโรงเรียนการกุศล” ดังนั้นภราดาคณะเซนต์คาเบรียลจึงมุ่งมั่นจัดการศึกษาเพื่ออบรม สั่งสอน พัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพครบทุกมิติ ทำงานด้วยความเสียสละถวาย       แด่พระเจ้าเท่านั้น” และยึดมั่นคติพจน์ที่ว่า “ความวิริยะอุตสาหะ นำมาซึ่งความสำเร็จ

ด้วยพันธกิจในการจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนในประเทศไทยดังกล่าวตลอดระยะเวลา 107 ปีที่ผ่านมา สถาบันการศึกษาของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ได้สร้างคุณประโยชน์แก่สังคมและชาติ มีศิษย์เก่าที่จบการศึกษาปฏิบัติงานสำคัญระดับประเทศมากมาย นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีข้าราชการระดับสูง ทหาร ตำรวจ แพทย์ ผู้พิพากษา ครูอาจารย์ พ่อค้า นักธุรกิจ นักการศึกษา เป็นต้น

ประวัติความเป็นมา


        ในปี ค.ศ. 1877 บาทหลวงเอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ บาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสได้รับตำแหน่งเป็นอธิการโบสถ์อัสสัมชัญด้วยอุดมการณ์อันมั่นคงของท่านที่อยากจะให้วิชาความรู้แก่เด็กชาวสยาม เพื่อเป็นวิทยาทานและด้วยความเมตตาธรรม ท่านได้รับเด็กกำพร้าเข้าไว้ในความดูแลของท่านสิบกว่าคน เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนวิชา ไว้เป็นกำลังของครอบครัวและประเทศชาติต่อไป จนกระทั่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 ท่านได้เปิดสอนเป็นทางการใช้ชื่อว่า “โรงเรียนอาซมซาน กอเล็ศ” หรือ โรงเรียนอัสสัมชัญ ในปัจจุบัน

        เนื่องด้วยคุณพ่อต้องดูแลทั้งโบสถ์และโรงเรียนที่กำลังขยายกิจการใหญ่โตขึ้น จึงเป็นภาระหนัก ด้วยเหตุนี้ท่านจึงคิดว่าคณะนักบวชที่สอนเรียน (Teaching Congregation) มาช่วยรับภาระโรงเรียนแทนท่าน ใน ค.ศ. 1900 ท่านต้องกลับประเทศฝรั่งเศสเพื่อรักษาตัว ท่านได้พบกับอัคราธิการเจ้าคณะเซนต์คาเบรียลในสมัยนั้น จึงตกลงว่าจะส่งภราดาชุดแรก 5 ท่าน มารับช่วงงาน

        วันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1901 ภราดาชุดแรกมี ภราดามาร์ติน เดอ ตูร์ ภราดาอาแบล ภราดาออกุส ภราดาคาเบรียล ฟาเร็ตตี และภราดาฮีแลร์ ได้มาถึงกรุงเทพฯ โดยทางเรือ แต่ละท่านต้องฝึกฝนภาษาไทยให้ชำนาญ โดยเฉพาะภราดาฮีแลร์ ท่านได้มุมานะจนเรียนได้อย่างแตกฉานและเขียนหนังสือให้เด็กไทยได้เรียนภาษาไทยด้วย คือ หนังสือดรุณศึกษา

         จากฃื่อเดิม “โรงเรียนอาซมซาน กอเล็ศ” ภายหลัง ภราดาฮีแลร์ ได้ขอเปลี่ยนเป็น “โรงเรียนอัสสัมชัญ” ซึ่งมีความหมายว่า “ตำแหน่งที่สำหรับระงับบาปและหาวิชาความรู้ (ที่อยู่ของความรู้) “ ในเวลาเดียวกันก็ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “ASSUMPTION” ซึ่งหมายถึง “แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ” ซึ่งเป็นศาสนนามของโรงเรียน

สถานศึกษาที่อยู่ในความดูแลของภราดาคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

ชื่อสถาบันจังหวัดตั้งเมื่อ พ.ศ.
1. โรงเรียนอัสสัมชัญ (AC)กรุงเทพฯ2428
2. โรงเรียนเซนต์คาเบรียล (SG)กรุงเทพฯ2463
3. โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย (MC)เชียงใหม่2475
4. โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ (ACC)กรุงเทพฯ2482
5. โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา (ACS)ชลบุรี2487
6. โรงเรียนเซนต์หลุยส์ (SL)ฉะเชิงเทรา2491
7. ยุวลัยเซนต์หลุยส์ แมรี่ (SLJ)ชลบุรี2491
8. โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง (ACL)ลำปาง2501
9. โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี (ACT)กรุงเทพฯ2504
10. โรงเรียนอัสสัมชัญระยอง (ACR)ระยอง2506
11. โรงเรียนอัสสัมชัญอุบลราชธานี (ACU)อุบลราชธานี2508
12. โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม (ACP)กรุงเทพฯ2508
13. โรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมา (ACN)นครราชสีมา2510
14. มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (AU,ABAC)กรุงเทพฯ2515
15. โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ (ACSP)สมุทรปราการ2522
17. บ้านนักศึกษาเซนต์คาเบรียล (SGS)นครปฐม2526
18. นวกสถาน เดอ มงฟอร์ต (MNS)เชียงใหม่2528
19. โรงเรียนอัสสัมชัญเทคนิคนครพนม (ATSN)นครพนม2541

ชื่อ อัสสัมชัญ

แรกเริ่มโรงเรียนของคุณพ่อกอลมเบต์ ได้ใช้ชื่อเป็น ภาษาฝรั่งเศส "Le College De L'Assomption" ซึ่งคุณพ่อได้ใช้ชื่อในภาษาไทยว่า "โรงเรียนอาซมซาน กอเล็ศ" แต่คนทั่ว ๆ ไปมักเรียก และเขียนผิด ๆ กันไปตามถนัด ดังนั้นในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2453 ภราดาฮีแลร์จึงได้มี จดหมายไปยังกระทรวงธรรมการ กรมคึกษา ขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น "อาศรมชัญ" เพื่อให้เป็นภาษาไทย ตามนโยบายของทางกรมฯ วันที่ 26 กันยายน 2453 พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ อธิบดีกรมศึกษาก็ได้ตอบกลับมา ว่า ควรเปลี่ยนเป็น"อัสสัมชัญ"เพราะได้เสียงใกล้เคียง ของเดิม และความ หมายก็คงไว้ตาม "อาศรมชัญ" ดังนั้นชื่อ "อัสสัมชัญ" จึงได้เริ่มใช้กัน ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2453 เป็นต้นมา ซึ่งคำๆนี้ให้เสียงเป็นคำไทย และ คล้ายกับภาษาอังกฤษว่า "Assumption" ซึ่งทั้งคำแปลก็เหมาะ สมที่จะเป็นชื่อ ของโรงเรียน โรงสวดกุฏิที่ถือศีลเป็นอันมากเพราะคำว่า "อัสสัมชัญ" ก็ได้แก่ ศัพท์ในภาษาบาลีว่า "อัสสโม" แผลงเป็นไทยว่า "อาศรม" ซึ่งหมายความถึง "กุฏิที่ถือศีลกินพรต" ส่วนคำว่า "ชัญ" ก็ จะแยกตาม ชาติศัพท์เดิม ก็ได้แก่ ธาตุศัพท์ว่า"ช" ซึ่งแปลว่า เกิด และ "ญ" ซึ่งแปลว่าญาณ ความรู้ รวมความได้ว่า "ชัญ" คือที่สำหรับเกิด ญาณความรู้ ครั้นรวมสองศัพท์ มาเป็นศัพท์เดียวกันแล้ว ได้ว่า "อัสสัมชัญ" คือ "ตำแหน่งที่สำหรับระงับบาปและหาวิชาความรู้" นั่นเอง และความหมาย คำว่า อัสสัมชัญ ภาษาอังกฤษ แปลว่า แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายละวิญญาณ ซึ่งตรงกับวันที่ 15 สิงหาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันหยุดของโรงเรียนอัสสัมชัญทุกปี















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น